FAQ     "Frequently Asked Questions"

 

 

Q1. หลักสูตรที่เปิดสอนของวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ต่างกันอย่างไร?

วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้เปิดสอนหลักสูตรที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย Thailand 4.0 และยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technologies) โดยในปี 2562 ได้เปิดสอนหลักสูตร 3 หลักสูตรที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. หลักสูตรการคอมพิวเตอร์ (Computing) เน้นการเรียนการสอนทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ องค์การและระบบสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐานของระบบ รวมถึงเทคโนโลยีและวิธีการทางซอฟต์แวร์ เพื่อสามารถวิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลเชิงลึก ออกแบบและผลิตสื่อดิจิทัล โดยมีกลุ่มวิชา 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่
  (1) ด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูล (Artificial Intelligence and Data Science)
  (2) สื่อดิจิทัล (Digital Media)

2. หลักสูตรธุรกิจดิจิทัล (Digital Business) หลักสูตรนานาชาติ เน้นประยุกต์ใช้ และบูรณาการความรู้ในด้านการจัดการธุรกิจ เทคโนโลยีดิจิทัล ในการสนับสนุนการแก้ปัญหา และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในวงการธุรกิจดิจิทัล นักศึกษาจะได้เรียนวิชาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เช่น การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) การวิเคราะห์ธุรกิจเชิงสหวิทยาการและวิชวลไลเซชัน (Business Analytics and Visualisation) เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) การจัดการเชิงกลยุทธ์และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Strategic Management and Business Transformation) และ เศรษฐกิจดิจิทัลและสารสนเทศ (Digital and Information Economy)

3. หลักสูตรวิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering) หลักสูตรนานาชาติ เป็นหลักสูตรที่รวมกันระหว่างวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (COE) และวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (SE) เข้าด้วยกัน เน้นการประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับหลักการทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมซอฟต์แวร์มาช่วยในการพัฒนาระบบอัตโนมัติ (Automatic System) ระบบฝังตัว (Embeded System) ระบบหุ่นยนต์ (Robotic System) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) มีกลุ่มวิชาที่นักศึกษาสามารถเลือกเรียน 3 ด้าน ได้แก่
  (1) วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering)
  (2) วัตถุชาญฉลาด (Intelligent Objects)
  (3) วิศวกรรมความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Engineering)

Q2. เรียนจบหลักสูตรที่เปิดสอนของวิทยาลัยฯ ได้วุฒิอะไรบ้าง?

1. หลักสูตรการคอมพิวเตอร์ (Computing) ได้วุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต (การคอมพิวเตอร์) หรือวท.บ. (การคอมพิวเตอร์) วุฒิภาษาอังกฤษ Bachelor of Science (Computing) หรือ B.Sc. (Computing)

2. หลักสูตรธุรกิจดิจิทัล (Digital Business) ได้วุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต (ธุรกิจดิจิทัล) หรือวท.บ. (ธุรกิจดิจิทัล) วุฒิภาษาอังกฤษ Bachelor of Science (Digital Business) หรือ B.Sc. (Digital Business)

3. หลักสูตรวิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering) ได้วุฒิวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมดิจิทัล) หรือ วศ.บ (วิศวกรรมดิจิทัล) วุฒิภาษาอังกฤษ Bachelor of Engineering (Digital Engineering) หรือ B.Eng. (Digital Engineering)

Q3. จุดเด่นของหลักสูตรที่เปิดสอนในวิทยาลัยคืออะไร?

1.  แน่นอนอยู่แล้วค่ะ หลักสูตรนานาชาติที่เปิดสอนในวิทยาลัยมีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 100% สำหรับหลักสูตรปกติจะเน้นการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษโดยจัดการเรียนการสอนให้ 30% ของวิชาด้านคอมพิวเตอร์สอนเป็นภาษาอังกฤษ

2. มีกิจกรรมเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและทางด้านภาษาอังกฤษเสริมนอกห้องเรียน เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาความสามารถในทักษะดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง

3. สนับสนุนนักศึกษาให้มีประสบการณ์ในการทำงานจริงกับสถานประกอบการ (Work Integrated Learning) เช่น มีการส่งนักศึกษาไปดูงานในสถานประกอบการ หรือ ส่งเสริมบางรายวิชาให้มีการทำกิจกรรมร่วมกับสถานประกอบการ

4. มีการเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิตก่อนที่จะทำงานได้ทันที โดยนักศึกษาทุกคนจะได้เข้าฝึกงาน/สหกิจศึกษาที่ปฏิบัติงานเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งของหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานหรือองค์กรร่วมกับคณาจารย์ของวิทยาลัยฯ

5. สนับสนุนให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศ โดยผ่านกิจกรรม/โครงการต่างๆ ของวิทยาลัยฯ ได้แก่ การฝึกงาน/สหกิจศึกษา การแลกเปลี่ยนต่างประเทศ เช่น ในปีการศึกษาที่ผ่าน นักศึกษาของวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ Sakura Exchange Science ณ มหาวิทยาลัย Osaka Prefecture University จังหวัดโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

6. สนับสนุนให้นักศึกษามีทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านการประกวด แข่งขัน ทัศนศึกษา ทั้งในและนอกประเทศ

Q4. หลักสูตรของวิทยาลัยฯ เน้นสอนทางด้านคณิตศาสตร์เยอะไหม? ถ้าไม่เก่งคณิตศาสตร์ จะสามารถเรียนทางด้านนี้ได้หรือไม่?

1. หลักสูตรของวิทยาลัยฯ ได้ถูกออกแบบมาให้เน้นวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์และดิจิทัลมากขึ้น และปรับลดวิชาหรือเนื้อหาในวิชาที่ไม่จำเป็นออก วิชาคณิตศาสตร์ก็เช่นเดียวกันค่ะ หลักสูตรการคอมพิวเตอร์ (Computing) จะเรียนวิชาคณิตศาสตร์จำนวน 2 วิชา โดยมีการปรับลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออก และให้เรียนคณิตศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานสำหรับวิชาทางคอมพิวเตอร์เท่านั้น เช่น วิชาคณิตศาสตร์ดิสครีต (Discrete Mathematics) เพราะฉะนั้น ถ้าน้อง ๆ ชอบหรือสนใจทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเรียนทางด้านนี้ได้ค่ะ

2. หลักสูตรธุรกิจดิจิทัล (Digital Business) สำหรับน้อง ๆ ที่จะเลือกเรียนหลักสูตรนี้ ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ มีเรียนวิชาคณิตศาสตร์เพียง 1 วิชาเท่านั้น และเป็นคณิตศาสตร์สำหรับธุรกิจ (Business Mathematics) ถ้าน้อง ๆ ชอบอะไรที่เกี่ยวกับธุรกิจ ก็สามารถเรียนทางด้านนี้ได้ค่ะ

3. หลักสูตรวิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering) วิชาคณิตศาสตร์ในหลักสูตรนี้ เหมือนกับหลักสูตรการคอมพิวเตอร์ (Computing) แต่เนื่องจากเป็นวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต น้อง ๆ จะมีวิชาคณิตศาสตร์สำหรับคอมพิวเตอร์เพิ่มอีก 1 วิชา แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าน้อง ๆ ชอบหรือสนใจทางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์หรือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก็ยังยืนยัน ว่า น้อง ๆ ก็สามารถเรียนทางด้านนี้ได้ค่ะ

 

Q5. ความเป็นนานาชาติของวิทยาลัยฯ

วิทยาลัยฯ มีอาจารย์ที่จบระดับปริญญาเอก (Ph.D.) ประมาณร้อยละ 60 ของอาจารย์ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะจบจากต่างประเทศที่หลากหลาย เช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น ซึ่งสามารถนำประสบการณ์ความเป็นนานาชาติที่ได้รับมาพัฒนาการเรียนการสอน นอกเหนือจากนั้น วิทยาลัยฯ ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ส่งนักศึกษาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น

 

Q6. เรียนจบมีโอกาสได้งานทำไหม?

มีค่ะ วิทยาลัยฯ มีโครงการสหกิจศึกษา ที่สนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานเปรียบเสมือนพนักงานทดลองงาน โดยนักศึกษาจะออกปฏิบัติสหกิจศึกษาในช่วงเทอมสุดท้ายของชั้นปีที่ 4 ซึ่งจะทำให้น้อง ๆ มีประสบการณ์การทำงาน และมีโอกาสจะได้ถูกจ้างเข้าทำงานต่อหลังจากปฏิบัติสหกิจศึกษาเสร็จสิ้น